เคล็ดลับ! การวางแผนการกู้เงินและชำระหนี้ตามกำหนด

สิ่งที่สำคัญมากไม่น้อยกว่าการวางแผนการกู้ยืมเงินคือการวางแผนสำหรับการคืนเงินสินเชื่อ นั่นก็เพราะไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าในอนาคตจะต้องมีการขอสินเชื่อเพื่อสิ่งจำเป็นอะไรอีก ดังนั้นการรักษาความน่าเชื่อถือ หรือเครดิต (Credit) เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากผู้กู้มีประวัติเกี่ยวกับพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ไม่ดีหรือไม่สม่ำเสมอแล้ว การดำเนินการขออนุมัติสินเชื่อในครั้งต่อๆ ไปในอนาคต ก็แน่นอนว่าจะต้องประสบปัญหายุ่งยาก หรือแย่ที่สุดคือไม่มีโอกาสขอสินเชื่อผ่านได้เลย โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบันทึกประวัติการชำระหนี้ที่เป็นมาตรฐาน เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้และถูกใช้โดยสถาบันทางการเงินและผู้ให้บริการทางด้านการเงินอื่นๆ (Non-Bank) เพื่อช่วยพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อได้ที่นี่ 

เนื่องจากการตามชดใช้หนี้สินที่ผิดนัดชำระ เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาจากปลายเหตุ อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อประวัติการชำระหนี้อย่างถาวร จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ขอสินเชื่อ ควรป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ นั่นก็คือการรู้จักวางแผนการชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับเจ้าของสินเชื่อนั่นเอง โดยการวางแผนการชำระหนี้ตามกำหนดนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ผู้ขอสินเชื่อจะต้องไม่มองข้ามการวางแผนเล่าหนี้ตั้งแต่ก่อนขอสินเชื่อดังนี้

  • ขอสินเชื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ – วัตถุประสงค์ของการใช้เงิน อาจถูกแบ่งคร่าวๆ ได้จากระยะเวลาของสินเชื่อ คือ สินเชื่อระยะสั้น (Short-term Loan) และสินเชื่อระยะยาว (Long-term Loan) โดยส่วนมากการเลือกใช้สินเชื่อระยะสั้นที่มีระยะเวลาการกู้ยืมและชำระคืนน้อยกว่า 1 ปีจะใช้กับวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม เช่น เงินทุนหมุนเวียนค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงานการผลิต หรือค่าจ้างบุคลากร เป็นต้น และสำหรับการขอสินเชื่อระยะยาว อาจมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการลงทุนที่ต้องการเงินทุนมากเช่น การซื้อที่ดินเพื่อขยายกิจการ การซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เป็นต้น

    หากผู้ประกอบการเลือกการกู้ยืมระยะยาวเพื่อนำเงินมาลงทุนในการหมุนเวียนเงินในระยะสั้นๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว สินเชื่อระยะยาวจะมีต้นทุนทางการเงินหรือดอกเบี้ย (Interest) ที่สูงกว่าสินเชื่อระยะสั้น ซึ่งจะทำให้กิจการต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าที่จำเป็น หรือการเลือกใช้สินเชื่อระยะสั้นในการซื้อเครื่องจักรราคาแพงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต แม้จะสามารถเพิ่มรายได้จากสินค้าที่ผลิตได้มากขึ้นก็ตาม กิจการก็ต้องใช้เวลาในการคืนทุนจากการลงทุนในเครื่องจักรราคาแพง ทำให้ความสัมพันธ์ของรายได้ต่อรอบระยะเวลาการคืนเงินไม่สัมพันธ์กัน อาจจะยิ่งทำให้การชำระเงินต่องวดมีปัญหาได้นั่นเอง
  • ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัญญาหรือนโยบายการชำระหนี้ – ผู้ขอสินเชื่อควรศึกษาเกี่ยวกับสินเชื่อที่ตนเองกำลังจะยื่นขอพิจารณา เพื่อประเมิณความสามารถในการชำระหนี้ต่องวดของตนเอง โดยศึกษาเกี่ยวกับ
    –    ระยะเวลาของการชำระคืน
    –    จำนวนเงินที่ใช้ผ่อนต่องวด
    –    ค่าปรับหรือบทลงโทษต่างๆ ในกรณีผิดนัดชำระหนี้ เพื่อไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายหรือปัญหาเพิ่มเติม
  • ตรวจสอบภาระหนี้สินปัจจุบันของตนเอง – เป็นไปได้ว่าผู้ขอสินเชื่ออาจมีภาระหนี้สินมากกว่า 1 ประเภท ซึ่งก็จะทำให้มีภาระในการชำระหนี้อื่นๆ นอกเหนือจากการขอสินเชื่อก้อนใหม่ หากไม่มีการประเมิณค่าใช้จ่ายเกี่ยวหับภาระหนี้สินก้อนเดิม อาจทำให้ผู้ขอสินเชื่อพบกับความเสี่ยงของการเกิดหนี้สินพอกพูนและซ้ำซ้อน สร้างปัญหาใหญ่ตามมาในภายหลังได้อีก
    นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ขอสินเชื่ออาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบความสามารถในการแบ่งจ่ายหนี้สินต่องวดให้เป็นไปตามสัญญา และไม่สร้างภาระที่หนักจนเกินไปให้แก่ตนเอง ก็คือ “รายจ่ายหลัก” อื่นๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน หรือจำเป็นต่อการดำเนินกิจการเช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างประจำ เป็นต้น หากสามารถจำแนกรายจ่ายต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ก็จะทำให้ผู้ขอสินเชื่อมองเห็นแผนการ และความสามารถในการชำระหนี้คืนต่องวดได้มากยิ่งขึ้น
  • พิจารณารายได้หรือประโยชน์ที่ได้จากการขอสินเชื่อ – หลายๆ คนที่ต้องการกู้เงินมักมีวัตถุประสงค์ หรือความจำเป็นในการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในการประกอบธุรกิจที่มีหลักการอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ “การสร้างรายได้และจัดการค่าใช้จ่าย” ซึ่งเหตุผลหนึ่งในการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ก็ควรจะเป็นการนำเงินทุนไปลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ที่มากขึ้นให้แก่กิจการนั่นเอง
  • อย่าสร้างหนี้สินซ้ำซ้อน – หากเป็นไปได้ ผู้ขอสินเชื่อไม่ควรสร้างภาระหนี้ซ้ำซ้อน เพราะนั่นหมายถึงความวุ่นวาย และความเสี่ยงที่มากขึ้นหากมีเหตุไม่คาดคิด ที่อาจจะทำให้การแบกรับภาระหนี้สินเกิดการสะดุดพร้อมๆ กัน และสร้างปัญหาใหญ่ได้โดยไม่ทันตั้งตัว
  • การกันเงินสำรอง – การมีเงินสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉิน ไม่จำเป็นกับเฉพาะผู้ที่มีการขอสินเชื่อเท่านั้น แต่จำเป็นกับทุกๆ คน เพราะเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การมีเงินสำรอง แม้ว่าจะเป็นเพียงเงินเก็บจำนวนหนึ่ง ก็สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการยืดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีสติมากขึ้นนั่นเอง

การผิดนัดชำระหนี้อาจเป็นสาเหตุทำให้ธุรกิจที่ผู้ประกอบการลงทุนลงแรงไปต้องจบลงไปเลยทีเดียว นั่นก็เพราะผลกระทบที่ตามมาในระยะยาวของประวัติการชำระเงินคืนที่ไม่ดี ดังนั้น สิ่งสำคัญเมื่อผู้ประกอบการหรือบุคคลทั่วไปตัดสินใจขอสินเชื่อคือ การประเมิณความสามารถในการชำระหนี้คืน ซึ่งจะช่วยให้การบริหารเงินเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่เกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลัง

Leave a Comment